ประวัติความเป็นมาของการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสาร
เทศบาลตำบลภูเขียว
อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
เทศบาลตำบลภูเขียว ได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสาร
ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารพ.ศ. 2540 โดยใช้ชื่อว่า ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการเทศบาลตำบลภูเขียว โดยมีหน้าที่ให้บริการข้อมูลข่าวสารตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540
สถานที่ตั้งอยู่ที่ เทศบาลตำบลภูเขียว เลขที่ 111 หมู่ที่ 1 ตำบลผักปัง อำเภอภูเขียว
จังหวัดชัยภูมิ 36110
โทรศัพท์/โทรสาร 044-861556,044-861456
เว็บไซต์ https://www.pkcity.go.th
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายข้อมูลข่าวสาร
พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์เพื่อรับรอง สิทธิได้รู้ (Right to Know )
ของประชาชนหรือสิทธิที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐ
เพื่อประชาชนจะสามารถแสดงความคิดเห็นและใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยถูกต้องกับความเป็นจริง
รวมทั้งมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
อันจะเป็นการส่งเสริมการบริหารบ้านเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส
เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนมากยิ่งขึ้น
จากวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว
จึงได้กำหนดเป็นมาตรการเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ
ของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมีการดำเนินการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ
และได้บัญญัติในมาตรา 9
ให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างน้อยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้
ประกอบกับได้มีประกาศคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เรื่อง
หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดู
ณ ที่ทำการของหน่วยงานของรัฐ โดยเรียกสถานที่ที่จัดเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารว่า ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร
ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร เป็นสถานที่ที่หน่วยงานของรัฐจัดรวบรวมข้อมูลข่าวสารไว้ให้ประชาชนเพื่อสามารถค้นหาข้อมูลข่าวสารของราชการเองได้
ในเบื้องต้นสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการพิจารณาเห็นว่า เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับหน่วยงานของรัฐทั้งในด้านบุคลากร
สถานที่และงบประมาณ จึงให้ถือว่าหน่วยงานของรัฐที่ต้องจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารกำหนดให้เป็นเฉพาะหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคลเท่านั้น
ดังนั้น หมายถึง หน่วยงานของรัฐที่เป็นราชการส่วนกลาง คือ กรม
หน่วยงานเทียบเท่าราชการส่วนภูมิภาค คือ จังหวัด และราชการส่วนท้องถิ่น คือ
องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร
และเมืองพัทยา
จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารตามประกาศคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ
วิธีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 7
1) โครงการและการจัดองค์กรในการดำเนินงาน
2) สรุปอำนาจหน้าที่ที่สำคัญและวิธีการดำเนินงาน
3) สถานที่ติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลข่าวสารหรือคำแนะนำในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ
4) กฎ มติคณะรัฐมนตรี ข้อบังคับ คำสั่งฯ
เฉพาะที่จัดให้มีขึ้นโดยมีสภาพอย่างกฎ เพื่อให้มีผลเป็นการทั่วไปต่อเอกชน
5) ข้อมูลข่าวสารตามที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 9 เป็นประเภทของข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดไว้ให้ประชาชนตรวจดู
ได้แก่
1) ผลการพิจารณาหรือคำวินิจฉัยที่มีผลโดยตรงต่อเอกชน รวมทั้งความเห็นแย้งและคำสั่งที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าว
2) นโยบาย หรือ การตีความที่ไม่เข้าข่ายต้องลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา
3) แผนงาน โครงการ และงบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ
4) คู่มือหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ซึ่งมีผลกระทบถึงสิทธิหน้าที่ของเอกชน
5) สิ่งพิมพ์ที่มีการอ้างอิงถึงตามมาตรา
7 วรรคสอง
6) สัญญาสัมปทาน
สัญญาที่มีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนหรือสัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ
7) มติคณะรัฐมนตรี หรือมติคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยกฎหมาย
หรือโดยมติคณะรัฐมนตรีทั้งนี้ให้ระบุรายชื่อรายงานทางวิชาการ รายงานข้อเท็จจริง
หรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการพิจารณาไว้ด้วย
8) ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด ได้แก่
8.1 ประกาศประกวดราคา ประกาศสอบราคาของหน่วยงานต่าง
จะต้องนำมารวมไว้ให้ตรวจอย่างน้อย 1 ปี นับแต่วันลงนาม
8.2 ผลการพิจารณาจัดซื้อจัดจ้าง
ซึ่งหน่วยงานของรัฐทุกแห่งจะต้องจัดทำสรุปผลการพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างเป็นประจำทุกเดือน
แล้วนำมารวมไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ โดยสรุปผลการจัดซื้อจัดจ้างนี้
จะต้องระบุรายละเอียดอย่างน้อย คือ จัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีใด
มีผู้เข้าร่วมจัดซื้อจัดจ้างจำนวนกี่ราย เป็นใครบ้าง ผู้ใดได้รับการคัดเลือก
ในวงเงินเท่าใด และสรุปเหตุผลที่คัดเลือกผู้รับจ้างรายดังกล่าวด้วย
8.3 ข้อมูล/เอกสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ
ข้อมูลข่าวสารที่จัดให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ตามวรรคหนึ่ง
ถ้ามีส่วนที่ต้องห้ามมิให้เปิดเผยตามมาตรา 14 หรือ
มาตรา 15 อยู่ด้วย
ให้ลดหรือตัดทอนหรือทำโดยประการอื่นใดที่ไม่เป็นการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนนั้น
บุคคลไม่ว่าจะมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม ย่อมมีสิทธิเข้าตรวจดู
ขอสำเนาหรือขอสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสารตามวรรคหนึ่งได้
ในกรณีที่สมควรหน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจะวางหลักเกณฑ์เรียกค่าธรรมเนียมในการนั้นก็ได้ ในการนี้ให้คำนึงถึงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยประกอบด้วย ทั้งนี้
เว้นแต่จะมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
คนต่างด้าวจะมีสิทธิตามมาตรานี้เพียงใดให้เป็นไปตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง